จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันอังคารที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2554

วัดพระพุทธบาทบัวบก


วัดพระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่กลางเทือกเขาภูพระบาท บ้านติ้ว ตำบลเมืองพาน อำเภอบ้านผือ จากตัวอำเภอบ้านผือ เป็นถนนลาดยางระยะทางประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เป็น ที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาทที่มีตำนานเล่าขานว่า ราวปี 2460 พระสงฆ์รูปหนึ่งได้เกิดนิมิตรอัศจรรย์เห็นพระบรมสารีริกธาตุสีขาวในอุโมงค์ ในพื้นที่วัดจึงชักชวนชาวบ้านรื้ออุโมงค์นั้นออก แล้วสร้างเจดีย์ครอบไว้แทนพระบรมสารีริกธาตุ มีสถานที่ศักดิ์สิทธิ์อันน่าอัศจรรย์ทั้งก้อนหินธรรมชาติ สรรสร้าง ประหนึ่งศิลปินนำมาจัดวางเป็นงานศิลปะ อีกถ้ำพญานาคซึ่งเล่าขานแต่อดีตว่าทางเดินภายในสามารถทะลุไปถึงแม่น้ำโขง พุทธศาสนิกชนชาวไทย ลาว สองฝั่งโขงต่างเดินทางมาสักการะด้วยความเลื่อมใสศรัทธาสืบมาจนกาลปัจจุบัน วัดพระพุทธบาทบัวบกยังเป็นสถานที่เงียบสงบเหมาะแก่การนั่งสมาธิปฏิบัติธรรม หลบหนีความวุ่นวายจากสถานการณ์บ้านเมืองได้
พระพุทธบาทบัวบก ตั้งอยู่บริเวณทางแยกซ้ายมือก่อนถึงที่ทำการอุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท สร้างขึ้นระหว่าง พ.ศ. 2463-2477 คำว่า "บัวบก" เป็นชื่อของพันธุ์ไม้ชนิดหนึ่งที่เกิดขึ้นตามป่า มีหัว และใบคล้ายใบบัว ซึ่งชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า ผักหนอก บัวบกนี้คงจะมีอยู่มากในบริเวณที่พบรอยพระพุทธบาท จึงเรียกรอยพระพุทธบาทนี้ว่า "พระพุทธบาทบัวบก" หรือคำว่าบัวบกอาจจะมาจากคำว่า บ่บก ซึ่งหมายถึง ไม่แห้งแล้ง รอยพระพุทธบาทมีลักษณะเป็นแอ่งลึกประมาณ 60 เซนติเมตร ลงไปในพื้นหินยาว 1.93 เมตร กว้าง 90 เซนติเมตร เดิมมีการก่อมณฑปครอบรอยพระพุทธบาทไว้ ต่อมาประมาณปี พ.ศ. 2465 พระอาจารย์ศรีทัตย์ สุวรรณมาโจ ได้รื้อมณฑปเก่าออกแล้วสร้างพระธาตุเจดีย์ขึ้นใหม่ และยังสร้างรอยพระพุทธบาทจำลองวางทับรอยพระพุทธบาทเดิมไว้ ภายในพระธาตุเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ตัวองค์เจดีย์เป็นทรงบัวเหลี่ยมคล้ายองค์พระธาตุพนม มีงานนมัสการพระพุทธบาทบัวบกในวันขึ้น 13-15 ค่ำ เดือน 3 ของทุกปี

ประวัติความเป็นมา
ตามตำนานพระเจ้าเหยียบโลก กล่าวไว้ว่า พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาโปรดสัตว์ในที่ต่าง ๆ เป็นจำนวนมาก ครั้งหนึ่ง พระพุทธองค์ได้เสด็จมาประทับอยู่ที่ดอยนันทะดังฮี ในแคว้นหลวงพระบาง ได้ทรงทราบว่า นาคแถบฝั่งโขงมีความดุร้าย มักรบกวนมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ เพื่อที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ พระองค์จึงได้เสด็จไปยังถ้ำหนองบัวบาน และถ้ำบัวบก อันเป็นที่อาศัยของนาค 2 ตัว คือ กุทโธปาปนาค และมิลินทนาค พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงธรรมแก่กุทโธปาปนาค เมื่อกุทโธปาปนาคได้สดับพระธรรมเทศนา ก็บังเกิดความเลื่อมใสประกาศตนเป็นอุบาสก และถือพระไตรสรณาคมณ์เป็นสรณะ ที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต
หลังจากนั้นกุทโธปาปนาคก็นึกถึงน้องชายคือมิลินทนาคว่า ควรจะได้สดับพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์เช่นตน เพื่อจะได้ประพฤติตนในทางที่ถูกที่ควร จึงได้กราบทูลขอให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรด เมื่อพระพุทธองค์เสด็จมาถึงถ้ำบัวบกอันเป็นที่อยู่ของมิลินทนาค มิลินทนาคก็แสดงฤทธิ์อำนาจเพื่อขัดขวาง และทำร้ายพระพุทธองค์ด้วยวิธีต่าง ๆ แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดจึงได้แปลงร่างเป็นมนุษย์ เข้าไปนมัสการพระพุทธองค์เพื่อขอขมา พระพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโปรดมิลินทนาค
เมื่อมิลินทนาคได้สดับพระธรรมเทศนาแล้ว ก็สำนึกผิดในสิ่งที่ตนได้กระทำไปแล้ว และทูลขอบรรพชาอุปสมบทในพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากมิลินทนาคมิใช่มนุษย์ พระพุทธองค์จึงอุปสมบทให้ไม่ได้ เพราะผิดพระวินัย ดังนั้นพระพุทธองค์จึงทรงประทานไตรสรณาคมณ์ ให้มิลินทนาคไว้เป็นสรณะที่พึ่งที่ระลึกและถือปฏิบัติต่อไป เป็นการเปลี่ยนวิถีชีวิต จากที่เคยเบียดเบียนทำร้ายสัตว์โลกมาเป็นช่วยเหลือเกื้อกูลสัตว์โลก ตามแนวทางของพระพุทธศาสนา
เมื่อมิลินทนาครับไตรสรณาคมณ์แล้ว จึงกราบทูลขอรอยพระบาทพระพุทธองค์ไว้เป็นที่สักการะบูชา พระพุทธองค์ทรงพิจารณาสถานที่แล้ว จึงได้ประทับรอยพระพุทธบาทไว้ ณ สถานที่นี้ แล้วจึงเสด็จกลับพระเชตวันมหาวิหาร พระพุทธบาทแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า พระพุทธบาทบัวบก ตามชื่อถ้ำบัวบกนี้มิลินทนาคอาศัยอยู่
อีกทั้ง ในบริเวณใกล้เคียงกันก็ยังมี “ถ้ำพญานาค” ที่เชื่อว่าเป็นที่อยู่ของพญานาคมิลินทนาค ซึ่งมีลักษณะเป็นโพรงขนาดใหญ่อยู่ใต้ชะง่อนหิน และเชื่อกันว่าในถ้ำพญานาคนี้สามารถทะลุไปออกยังแม่น้ำโขงได้ ทั้งนี้ พุทธศาสนิกชนผู้ที่มาเยือนอุทยานภูพระบาทแห่งนี้ และได้มากราบรอยพระพุทธบาทแล้ว ก็อย่าลืมไปชมประติมากรรมหินซึ่งเป็นฝีมือของธรรมชาติ เช่น หอนางอุสา และถ้ำต่างๆ มากมาย
หลังจากนั้น พระพุทธบาทแห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งมาเป็นระยะเวลานานกว่าสองพันปี อาจจะมีผู้บูรณะมาตามลำดับแต่ไม่ปรากฎหลักฐาน การบูรณะครั้งล่าสุดดังที่เห็นเป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นการบูรณะเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2462 โดยมีพระภิกษุสงฆ์จำนวนหนึ่งจากอำเภอท่าอุเทน จังหวัดนครพนม มีพระศรีทัตเป็นผู้นำ ได้ธุดงค์มาตามลำดับจนถึง อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เพื่อค้นหารอยพระพุทธบาทตามตำนานดังกล่าวข้างต้น ชาวบ้านในแถบนั้นก็ให้ข้อมูลตามที่ทราบ ในที่สุดก็ได้ค้นพบรอยพระพุทธบาทแห่งนี้ จากนั้นจึงได้ขอแรงชาวบ้านในพื้นที่และบริเวณใกล้เคียง สร้างพระเจดีย์ครอบรอยพระบาท ในการก่อสร้างต้องนำวัสดุมาจากที่ห่างไกล ทั้งจากประเทศไทยและจากประเทศลาว การคมนาคมก็ไม่สดวก ทำให้การก่อสร้างเป็นไปด้วยความยากลำบาก และใช้เวลามาก แต่ด้วยแรงศรัทธาและความตั้งใจแน่วแน่ การก่อสร้างก็แล้วเสร็จ โดยใช้เวลาถึง 14 ปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น