จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

วัดป่าบ้านตาด/ Wat Pa Ban Tad



วัดป่าบ้านตาด เริ่มก่อตั้งเมื่อปี เดือนพฤศจิกายน พ.ศ.๒๔๙๘ ต่อมากระทรวงศึกษาธิการ ประกาศตั้งขึ้นเป็นวัดในพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๑๗ กันยายน พ.ศ. ๒๕๑๓ ให้ชื่อว่า วัดเกษรศีลคุณ ซึ่งเป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปในนาม วัดป่าบ้านตาด

ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านบ้านตาด ตำบลบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ห่างจากตัวเมืองอุดรธานีไปทางทิศใต้ ประมาณ ๑๖ กิโลเมตรโดยมีศรัทธาญาติโยมชาวบ้านตาดถวาย พื้นที่ในกำแพงล้อมรอบประมาณ ๑๖๓ ไร่ และบริเวณรอบกำแพงที่มีผู้ซื้อที่ถวายอีกหลายแปลง ตลอดทั้งทางวัดซื้อที่เพิ่ม อีกประมาณ ๑๔๐ ไร่ รวมประมาณ ๓๐๐ ไร่ เป็นสถานที่ปฏิบัติธรรม อันสงบเรียบง่าย ร่มครึ้มไปด้วยต้นไม้สูงใหญ่นานาพันธุ์ เป็นสถานที่พึ่งพิงของสัตว์น้อยใหญ่ ในเขตอภัยทานหลากชนิด อาทิ ไก่ป่า กระรอก กระแต กระต่าย เต่า แย้ นก ฯลฯ

เมื่อก้าวย่างเข้าสู่บริเวณวัด จะพบศาลาการเปรียญซึ่งเป็นศาลาไม้หลังใหญ่ เดิมทีเป็นศาลาชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย แต่ภายหลังถูกยกให้สูงขึ้น ๒ ชั้น เพื่อจะใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ด้านบนศาลานั้น ให้เป็นที่ประดิษฐาน ของพระพุทธรูปองค์ใหญ่ที่เป็นพระประธานของวัด ใช้เป็นที่แสดงธรรมอบรมแก่พระภิกษุสามเณรในวัด ตลอดจนเป็นที่ประชุมทำสังฆกรรมร่วมกัน เช่น สวดพระปาฏิโมกข์ อธิษฐานเข้าพรรษา สวดปวารณา และกรานกฐินเป็นต้น ตู้ด้านขวาขององค์พระประธาน นั้น เป็นที่ประดิษฐานอัฐิธาตุของ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของหลวงตามหาบัว รวมทั้งอัฐิธาตุของครูบาอาจารย์องค์อื่นๆ ส่วนด้านล่างศาลานั้นใช้เป็นที่สำหรับฉันภัตตาหารเช้า สถานที่ที่หลวงตามหาบัวใช้ในการแสดงธรรมเทศนาและปฏิสันถารกับศรัทธาฆราวาสญาติโยม ที่มาจากทุกสารทิศอย่างไม่ขาดสายไม่เว้นแต่ละวัน

สำหรับศาลาใหญ่ด้านนอกกำแพงนั้น สร้างเสร็จเมื่อปลายปี ๒๕๔๔ มีศรัทธาญาติโยมขอสร้างถวาย หลวงตาท่านพิจารณาดูแล้ว เพราะเกี่ยวกับงานช่วยชาติที่จัดหลายๆ ครั้ง เช่น กฐินช่วยชาติเป็นต้น ญาติโยมจากทุกสารทิศไม่มีที่พักอาศัย และที่ร่มบังในเวลามีงานแต่ละวาระ จึงเมตตาให้สร้างเพื่ออาศัยประโยชน์จากจุดนี้

กุฏิของพระภิกษุสามเณรแต่ละรูป เป็นกุฏิเรียบง่าย พอแก่การบังแดด ลม ฝน จะสูงจากพื้นดิน ประมาณ ๑ เมตร เพื่อกันการรบกวนจากสัตว์เลื้อยคลาน ความชื้นจากพื้นดิน ฯลฯ มีขนาดเพียงพอ สำหรับอยู่เพียงองค์เดียว ฝาผนังส่วนใหญ่ใช้จีวรเก่าขึงแทน เพื่อกันลม กันฝน ใช้มุ้งกลดกันยุง ภายในกุฏิจะมีเพียงกลด เสื่อปูนอน ผ้าห่ม เครื่องอัฏฐบริขาร ตะเกียงหรือเทียนไข และของใช้ ที่จำเป็นอื่นๆ ด้านหัวนอนจะมีพระพุทธรูปหรือรูปครูบาอาจารย์ติดไว้ เพื่อกราบไหว้บูชาเป็น กำลังใจในการบำเพ็ญภาวนา ทุกกุฏิจะมีทางเดินจงกรมอย่างน้อย ๑ เส้น ยาวประมาณ ๒๕ ก้าว อยู่ใต้ร่มไม้ดูร่มเย็น ในยามค่ำคืนการเดินจงกรม จะใช้โคมเทียนจุดสว่างพอให้เห็นทาง กุฏิแต่ละหลัง จะมองไม่เห็นกันประหนึ่งว่า อยู่ท่ามกลางป่าเพียง องค์เดียว เพื่อให้สัปปายะสะดวกในการบำเพ็ญ สมณธรรม

กุฏิที่สร้างถาวรมีอยู่รวมประมาณ ๑๐ กว่าหลัง เป็นกุฏิของหลวงตา ภิกษุสูงอายุ กุฏิของญาติโยม ตามปกติญาติโยมทั้งหญิงและชายมักมาขออยู่พัก ปฏิบัติธรรมภาวนา เป็นช่วงเวลาสั้นๆ โดยเฉลี่ยอยู่ในระหว่าง ประมาณ ๕๐-๑๐๐ คน จัดแยก เขตกันระหว่างพระภิกษุสามเณร ญาติโยมชายและหญิงอย่างเป็นระเบียบ

สำหรับวัดป่าบ้านตาดนี้ หลวงตาท่านเน้นย้ำถึงเรื่องมหาภัย ๕ ประเภทที่ไม่ให้พระเกี่ยวข้องเด็ดขาด คือ หนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ วิดิโอ โทรศัพท์ เพราะเป็นอุปสรรคต่อการบำเพ็ญสมณ ธรรมโดยตรง อีกทั้งไฟฟ้า ก็ไม่ให้ต่อเข้ามาในวัด มีเพียงเครื่องปั่นไฟ เพื่อใช้ในบางกาล ที่ประชาชนมาทำบุญมาก เป็นกรณีพิเศษในวันสำคัญทางศาสนาเท่านั้น

กิจวัตรประจำวันหลักของพระเณรก็คือ การนั่งสมาธิภาวนา เดินจงกรม เพื่อฝึกสติปัญญา และชำระกิเลสตัวร้อนรุ่มกระวนกระวายภายในจิตใจให้เหือดแห้งไป พระในวัดนี้จะไม่รับกิจนิมนต์ ไปฉันในที่ต่างๆ เพื่อมีเวลาสำหรับบำเพ็ญเพียรภาวนาเพียงอย่างเดียว

ที่วัดป่าบ้านตาดปัจจุบัน (ปี ๔๔) ในพรรษามีพระเณรจำพรรษา ๔๙ รูป สามเณร ๑ รูป นอกพรรษาจะมีพระภิกษุสามเณรอาคันตุกะ เข้ามาพักศึกษาข้อวัตร ปฏิบัติเพิ่มขึ้นรวมเป็น ๕๐-๖๐ รูปเป็นประจำ สำหรับในยามเช้าก่อนออก บิณฑบาตทั้งพระและเณรต่างช่วยกันขัดถูปัดกวาดศาลาและบริเวณรอบๆ เสร็จแล้วเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน ระยะทางไปกลับประมาณ ๓ กิโลเมตร ขากลับแวะรับบาตรที่หน้าวัดอีกครั้งหนึ่ง และในช่วงประมาณ บ่าย ๓ โมงเย็น ท่านก็จะออกมาทำข้อวัตรปัดกวาด เสนาสนะ ขัดถู กุฏิ ศาลา บริเวณวัด ทำความสะอาด ห้องน้ำห้องส้วม อย่างพร้อมเพรียงกัน

หลวงตาได้ พยายามสอนพระเณรอยู่เสมอ ในเรื่อง ความเรียบง่าย มักน้อยสันโดษ การใช้สอย ปัจจัยสี่ที่ศรัทธาญาติโยมถวายมานั้น ให้เป็นไปด้วยความประหยัด ใช้สอยในสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น หลายท่านที่ตั้งใจจะมากราบหลวงตาที่วัด อาจจะแปลกใจหากไม่พบป้ายชื่อวัด แต่นั่นก็อาจจะทำให้หลายคนได้นึกคิดจาก ปริศนาธรรมนี้ว่า หลวงตาท่านทำมีความหมายอย่างไร หลายคนอาจจะตีความหมายไปต่างๆนานา มีบางท่านตีความหมายนี้ ซึ่งดูเหมือนจะเข้าทีที่สุดว่า การเดินทาง ถ้าเดินตามแผนที่ที่บอกเป็นระยะ ว่าเส้นทางจะผ่านจุดที่สำคัญจุดไหนบ้าง เป็นลำดับ จนกระทั่งการเดินทางตามเส้นทางไปถึงจุดหมาย ถึงแม้จุดหมายจะไม่มีชื่อบอกก็ตาม ทุกคนที่เดินทางไปก็จะทราบเองว่า ถึงจุดหมายหรือยัง ชื่อก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป หรือเส้นทางไปสู่วิมุตตินิพพานก็เช่นกัน ปฏิบัติไปตามหลักธรรมที่พระพุทธเจ้าวางไว้ เมื่อไปถึงแล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องถามใครว่าถึงจุดมุ่งหมายหรือไม่ ปริศนาธรรมนี้ อาจทำให้ผู้มีปัญญาทั้งหลายพอจะทราบว่า หลวงตาท่านสอนอะไร ตั้งแต่เริ่มก้าวเข้ามาในวัดนี้....

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น